ยกระดับสกิลการออกแบบของคุณให้ไปสู่อีกขั้น ค้นพบกุญแจสำคัญของการออกแบบและวิธีการนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการออกแบบทั้ง 8 นี้ประกอบไปด้วย ความสมดุล คอนทราสต์ การเน้นย้ำ การเคลื่อนไหว การวางสัดส่วน การทำซ้ำ การเหลือพื้นที่ และความกลมกลืน หลักการเหล่านี้จำเป็นสำหรับการสร้างองค์ประกอบที่สวยงามสะดุดตา ช่วยให้งานออกแบบมีประสิทธิภาพ
หลักการพื้นฐานสำหรับการออกแบบมีการพัฒนาตลอดเวลา สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามผลงานของศิลปินหรือสถาปนิกชั้นนำของโลกในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งความสมดุล การเล่นกับสัดส่วน และความสมมาตรในสถาปัตยกรรมกรีกโบราณไปจนถึงโรมันยุคคลาสิก ทั้งความกลมกลืนและคอนทราสต์ในยุคศิลปะสไตล์เรอเนซองส์ หลักการเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสุนทรียศาสตร์ในสาขาวิชาศิลปะแขนงต่าง ๆ หลักการออกแบบสามารถเคลื่อนไหวไปตามสังคมและพัฒนาขึ้นตามสังคม จนเกิดเป็นหลักการออกแบบแขนงใหม่ ๆ เช่น มินิมอล เรียบง่าย และฟังก์ชั่นใช้งานสะดวก เป็นต้น
ปัจจุบันหลักการออกแบบยังคงถูกนำมาใช้ในงานมากมาย เช่น กราฟิก แฟชั่น การออกแบบภายใน และอุตสาหกรรมครีเอทีฟอื่น ๆ มากมาย การทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลักการเหล่านี้ จะช่วยให้นักออกแบบมีพื้นฐานที่ดีและประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย
ทำไมหลักการเหล่านี้จึงสำคัญ?
หลักการออกแบบทำหน้าที่เป็นรากฐานสำหรับงานครีเอทีฟและงานออกแบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศิลปะยุคคลาสิกหรือศิลปะดิจิทัล หลักการเหล่านี้ล้วนประกอบไปด้วยความสมดุล คอนทราสต์ การเน้นย้ำ การเคลื่อนไหว การวางสัดส่วน การทำซ้ำ การเหลือพื้นที่ และความกลมกลืน
ตัวอย่างเช่น ศิลปะในยุคคลาสิกส่วนใหญ่จะใช้หลักความสมดุล เพื่อทำให้งานศิลปะมีความสมมาตรและมีความกลมกลืน ในขณะที่งานออกแบบดิจิทัลจะใช้หลักการเหลือพื้นที่ขาวไว้ประมาณหนึ่ง เพื่อนำสายตาผู้ชมได้ง่าย
หลักการเหล่านี้สอดคล้องกับหลักการศิลปะ อย่าง เส้น รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว สี น้ำหนักสี และการเว้นพื้นที่ สามารนำไปใช้กับหลักการออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1.การวางสัดส่วนและขนาด
สัดส่วนมีบทบาทสำคัญในการออกแบบ เนื่องจากส่งผลต่อขนาดและน้ำหนักโดยรวมขององค์ประกอบในภาพ ทำให้การใช้สัดส่วนต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง ไม่อย่างนั้นจะสูญเสียจุดโฟกัสในภาพไปทันที
การวางสัดส่วนกราฟิกถ้าวางได้อย่างพอดี แต่ละองค์ประกอบจะสามารถแชร์เรื่องราวได้อย่างลื่นไหล ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับหลักการคอนทราสต์ได้ดี เนื่องจากหลักการนี้สามารถช่วยแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพโดยรวมได้
ท้ายที่สุดแล้วสัดส่วนจะเป็นหลักการสำคัญในการตัดสินใจสุดท้ายการเผยแพร่ผลงาน เพื่อกำหนดองค์ประกอบโดยรวมในท้ายสุด
ขนาดก็เป็นอีกหนึ่งหลักการสำคัญ เพื่อใช้ถ่ายทอดข้อความที่เฉพาะเจาะจง ถ้าพูดถึงเรื่องการออกแบบสิ่งที่ใหญ่กว่าใช่ว่าจะดีกว่าเสมอไป องค์ประกอบเล็ก ๆ สามารถดึงดูดความสนใจและสื่อสารได้ชัดเจนพอกันถ้าใช้งานอย่างถูกต้อง
การใช้ขนาดและน้ำหนักสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อการมองเห็นและการรับรู้โดยตรง ดังนั้นคุณควรใช้หลักการนี้อย่างมีกลยุทธ์ นักออกแบบสามารถเน้นองค์ประกอบเฉพาะส่วนในพื้นที่ ๆ กำหนด หรือดึงดูดความสนใจผู้ชมไปยังสิ่งที่ต้องการได้ด้วยวิธีนี้
ตัวอย่างเช่น งานออกแบบโปสเตอร์ การใช้หัวข้อขนาดใหญ่และรายละเอียดเพิ่มเติมขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน สามารถสร้างเส้นนำสายตาจากผู้ชมไปสู่ความหมายที่จะสื่อได้
ในทางกลับกัน การใช้องค์ประกอบเล็ก ๆ อย่างมีกลยุทธ์ เช่น ไอคอน รูปทรง หรืออีสเตอร์เอก จะช่วยดึงดูดผู้ชมให้เข้ามาดูใกล้ชิดยิ่งขึ้น ด้วยวิธีนี้สามารถสร้างความสมดุล และเน้นย้ำองค์ประกอบหลักได้เป็นอย่างดี
2.การเคลื่อนไหว
ในการจัดองค์ประกอบภาพ การควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตาสามารถชี้นำผู้ชมให้ดูข้อมูลได้อย่างมีขั้นตอน โดยทั่วไปจะใช้รูปแบบ F และ Z เพื่อกำหนดทิศทางการมอง
รูปแบบ F มักถูกใช้ในงานออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลที่สำคัญจะถูกไล่ระดับจากซ้ายไปขวา ซึ่งให้ตรงกับพฤติกรรมการอ่านตามธรรมชาติของผู้คนฝั่งตะวันตก
อีกรูปแบบก็คือรูปแบบ Z มักใช้กับงานตีพิมพ์หรืองานโฆษณาที่ต้องนำไปเผยแพร่ข้างนอก ซึ่งมักใช้เทคนิคนำสายตาผู้ชมจากมุมซ้ายบนไปขวาบน จากนั้นลากลงมาซ้ายล่างและขวาล่างถัดไป
การสร้างการเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องใช้เทคนิคหลายประการ ทั้งการทับกันของรูปทรง เส้น สี คอนทราสต์ เพื่อลากสายตาผู้ชมจากองค์ประกอบหนึ่งไปยังอีกองค์ประกอบ
3.การจัดตำแหน่งและความสมดุล
สมดุลและการจัดตำแหน่งแนววางเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยให้งานออกแบบน่าพึงพอใจ เพราะสิ่งนี้จะช่วยตรวจสอบให้ทุกองค์ประกอบที่วางบนงานมีน้ำหนักพอดี ไม่น้อยเกินไปหรือมากเกินไปจนล้น ซึ่งคุณจะรู้สึกได้เองจากความไม่สมมาตรกันภายในงาน
เช่น ถ้าคุณต้องการความสมมาตรให้วางข้อความกับภาพกราฟิกให้อยู่กึ่งกลาง หรือตามแกนแนวตั้งเพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคงและเป็นระเบียบ แต่ถ้าคุณไม่อยากได้ความสมมาตร ให้สร้างความสมดุลระหว่างองค์ประกอบขนาดใหญ่และเล็กให้เกิดไดนามิกขึ้นมาแทน
ให้คุณพิจารณาว่าน้ำหนักของแต่ละองค์ประกอบเป็นอย่างไร และจัดวางลงไปอย่างรอบคอบ สามารถช่วยหลีกเลี่ยงความสับสนและความยุ่งเหยิงในการออกแบบเบื้องต้นได้ ก่อนจะเริ่มงานให้คิดก่อนว่าคุณอยากได้ความสมดุลหรือไม่สมดุล เพื่อมีเป้าหมายชัดเจนในการมุ่งไป
4.คอนทราสต์
การใช้คอนทราสต์ออกแบบงานจะช่วยให้องค์ประกอบต่าง ๆ โดดเด่นขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยสี รูปร่าง ขนาด หรือคุณสมบัติอื่น ๆ มากมาย สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดความสนใจให้ผู้ชมและชี้นำพวกเขาตลอดทั่วทั้งงานออกแบบ
คอนทราสต์มีบทบาทสำคัญในการสร้างงานออกแบบที่ผู้มีความบกพร่องทางสายตาสามารถมองเห็นได้ง่าย ด้วยการใช้ความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างองค์ประกอบ เช่น ข้อความกับสีพื้นหลัง หลักการนี้จึงเป็นมิตรกับผู้ชมได้บริเวณกว้าง
อย่างเช่น การอ่านข้อความสีดำบนพื้นหลังสีขาวจะช่วยกว่าพื้นหลังสีเทาเข้ม เนื่องจากสีเทาอยู่ใกล้กับสีดำเดินไปจนไม่เกิดคอนทราสต์ เพราะคอนทราสต์ทำหน้าที่สร้างความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในงาน ทำให้ผู้ชมเข้าใจและใช้งานต่อได้ง่าย ช่วยนำทางและทำความเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย ทำให้ผู้ชมไม่หลุดสายตาจากข้อมูลที่สำคัญ
5.การทำซ้ำและแพทเทิร์น
การทำซ้ำในงานออกแบบสามารถทำได้หลากหลายวิธี เพื่อทำให้เกิดภาพที่น่าสนใจหรือสร้างความเคลื่อนไหวบางอย่างได้
แต่ในบางครั้งการใส่ไดนามิกแบบไม่ปกติก็สามารถสร้างความมีชีวิตชีวาและความมีเอกลักษณ์ให้กับงานออกแบบได้ การทำซ้ำทั้งสองรูปแบบมีประโยชน์การใช้งานที่ต่างกัน แต่ก็สามารถใช้งานได้เหมือนกันในการนำสายตาคนดู
แต่สิ่งที่ต้องให้ความสนใจก็คือควรหลีกเลี่ยงการออกแบบที่ซ้ำซากจำเจ ซึ่งทำได้โดยการใช้ขนาด สี หรือลวดลายที่แตกต่างกัน เพิ่มความซับซ้อนให้เกิดความสวยงาม ยิ่งใช้ในแคมเปญการตลาดบ่อยเท่าไหร่ก็จะเพิ่มความน่าจดจำให้แบรนด์เท่านั้น
6.การเน้นย้ำ
การเน้นย้ำในงานออกแบบเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยชี้นำความสนใจไปยังองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในภาพ ช่วยสร้างลำดับขั้นตอนการมองอย่างเป็นระบบ สามารถทำได้ผ่านองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น สี ขนาด การวางตำแหน่ง และภาพที่สื่อสารถึงการเคลื่อนไหว เป็นต้น
หากต้องการใช้วิธีการเน้นย้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นักออกแบบจะต้องพยายามให้ผลงานเกิดความสมดุล คุณจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมอย่างรอบคอบ หลีกเลี่ยงการเน้นองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความสับสนและไม่เป็นระเบียบ ควรใช้สีเข้มเท่าที่จำเป็นเพื่อให้องค์ประกอบสำคัญโดดเด่นแต่ไม่ล้นจนกลืนอย่างอื่นโดยรอบ
7.เหลือพื้นที่
พื้นที่สีขาวหรือเรียกอีกชื่อว่า negative space ช่วยให้เกิดความสมดุล และความเป็นระเบียบในเลย์เอาต์ สร้างพื้นที่ว่างไว้ให้ผู้ชมไว้พักสายตา หรือช่วยให้ผู้ชมหาจุดสนใจที่เด่นที่สุดเจอโดยง่าย ถ้าใช้อย่างถูกวิธีจะทำให้เกิดการกระตุ้นอารมณ์และได้แนวคิดบางอย่างที่แตกต่างได้
ทั้งงานกราฟิกตัวอักษรและการสร้างแบรนด์ พื้นที่สีขาวมีบทบาทสำคัญ เช่น โลโก้ FedEX ที่ใช้ช่องว่างสีขาวทำเป็นลูกศรระหว่างตัว “E” และ “X” เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวและความเร็ว องค์ประกอบที่ซ่อนอยู่นี้นอกจากเพิ่มความน่าสนใจให้สายตา ยังเสริมสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้อีกด้วย
8.ความกลมกลืน
ความกลมกลืนหมายถึงการจัดเรียงองค์ประกอบภายในที่รวม ๆ กันแล้วเหนียวแน่นและกลมกลืน ทำให้ทุกอย่างในงานออกแบบสมดุล สอดคล้องกัน มีระเบียบและเป้าหมายเดียวกัน
ในบริบทของการออกแบบ ความกลมกลืนทำงานร่วมกับหลักการอื่น ๆ ได้ เช่น ความสมดุล คอนทราสต์ และการทำซ้ำ เพื่อให้องค์ประกอบภาพน่าดึงดูดและมีองค์ประกอบที่ดี สื่อสารข้อความบางอย่างออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยการรวมหลักการเหล่านี้เข้าด้วยกัน นักออกแบบสามารถสร้างการออกแบบที่ไม่เพียงแต่สวยงามน่าพึงพอใจเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ใช้สอยและมีประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อความที่ต้องการอีกด้วย
บทความโดย : 8 Principles of Design and How to Use Them
เรียบเรียงโดย : ทีมงานชัตเตอร์สต็อกประเทศไทย ดำเนินงานโดย นัมเบอร์ 24