ภาพทิวทัศน์ (Landscape) หรือเรียกกันติดปากง่าย ๆ ว่าภาพวิว เป็นหนึ่งในประเภทของภาพถ่ายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดยเน้นเก็บความงดงามของแก่นแท้ในธรรมชาติ หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซึ่งมีวิธีการเล่าเรื่องอย่างหลากหลายตามแต่ละฤดูกาล เราจะมาเจาะลึกถึงเทคนิคการถ่ายภาพตามฤดูกาลที่คุณควรทราบ มีอะไรกันบ้าง
ภาพถ่าย ทิวทัศน์คืออะไร?
เป็นภาพประเภทหนึ่งที่เน้นการถ่ายภาพฉากของธรรมชาติและกิจกรรมกลางแจ้ง ฉากเหล่านี้มีตั้งแต่ทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ของภูเขาและหุบเขา ไปจนถึงชายฝั่งทะเลสาบอันเงียบสงบ ป่าเขียวชอุ่ม แนวชายฝั่งที่สุดลูกหูลูกตา และแม้แต่ทิวทัศน์ในเมือง ยิ่งถ้าสิ่งเหล่านี้รวมเอาองค์ประกอบของโลกธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกันได้ก็จะดีมาก เพราะเป้าหมายของการถ่ายภาพทิวทัศน์คือถ่ายทอดความงดงาม อารมณ์ และความรู้สึกของสถานที่นั้น ๆ ไว้ได้
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการภาพถ่าย ทิวทัศน์
1.ขาตั้งกล้อง
การถ่ายภาพทิวทัศน์มักใช้ระยะเวลายาวนาน มืออาชีพที่ถ่ายภาพเหล่านี้เป็นประจำมักตื่นแต่เช้าตรู่ หรือไปเตรียมตัวก่อนพระอาทิตย์ตกดินเสมอ เพื่อมองหามุมถ่ายภาพที่ตัวเองชอบ จากนั้นรอจนกว่าจะได้แสงที่ต้องการ ซึ่งคุณอาจต้องรอ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบก็ได้
การใช้ขาตั้งกล้องจะช่วยในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี คุณสามารถวางกล้องไว้ในที่เดิมเป็นระยะเวลานานได้ แถมยังสามารถกะระยะเส้นขอบฟ้า (Horizontal) อย่างแม่นยำได้ด้วย
2.ความรู้เรื่ององค์ประกอบภาพ
ภาพที่มีชื่อเสียงหรือภาพที่ถูกกล่าวถึงบ่อย ๆ มักมีองค์ประกอบภาพที่สมบูรณ์แบบและไม่เหมือนใคร เช่น
- กฎสามส่วน
- ความสมมาตร
- ใส่กรอบให้ภาพ
- เส้นนำสายตา
- Foreground
- Background
- คู่สี
และอื่น ๆ อีกมากมายที่คุณควรศึกษาไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อเวลาไปหน้างานคุณจะได้มีเทคนิคไว้ปรับใช้กับทุกสถานการณ์นั่นเอง
เท่านี้คุณก็พร้อมลุยถ่ายภาพทิวทัศน์ในแต่ละฤดูกาลกันแล้ว มาดูกันดีกว่าว่าแต่ละฤดูกาลมีความท้าทายอย่างไร
ฤดูใบไม้ผลิ
ยามใบไม้ผลิบานหลังฤดูหนาว ต้นไม้ที่เหลือแต่ก้านต่างออกใบอย่างสวยงามเขียวขจี เป็นฤดูกาลที่สายถ่ายภาพเชิงธรรมชาติชอบอย่างมาก เพราะฤดูกาลนี้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ได้ดีที่สุดใจบรรดาฤดูกาลทั้งหมดแล้ว
ลักษณะของภาพที่คุณจะได้ในฤดูกาลนี้จะประกอบไปด้วยธรรมชาติที่มีสีสันต์สดใส จัดจ้าน มีชีวิตชีวากว่าฤดูกาลอื่น
ความท้าทายของฤดูกาลนี้ก็คือ
- สภาพอากาศที่คาดเดายากและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งคุณอาจพบเจอกับสภาพแดดจ้า ฝนตก หมอกลงบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลต่อสภาพแสงในการถ่ายภาพโดยตรง
- ดอกไม้บานสะพรั่ง ถึงสิ่งนี้จะฟังดูสวยงามแต่เพราะมันบานพร้อมกันเยอะเกินไป จนทำให้จุดสนใจของภาพถูกดึงออกไป ยิ่งเป็นดอกไม้ที่มีสีสัตฉูดฉาดมาก ๆ ยิ่งทำให้เราหามุมถ่ายภาพได้ยากขึ้น
- แมลงชุกชุม ฤดูกาลนี้คือฤดูแห่งแมลงเติบโต ประเทศไทยที่ซึ่งขึ้นชื่อว่าแมลงอาศัยอยู่เยอะนั้นยิ่งแล้วใหญ่ แต่ถ้าคุณเป็นช่างภาพสายถ่ายแมลงฤดูนี้ถือว่าเป็นสวรรค์เลยทีเดียว
ฤดูร้อน
ถึงแม้ฤดูร้อนในฝั่งตะวันตกอาจเป็นสวรรค์สำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะบริเวณนั้นมีอากาศหนาวเย็น แต่ในฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะประเทศไทยคือร้อนระดับหลอมละลาย แม้แต่คนไทยเองยังทนแทบไม่ได้ แต่ฤดูกาลนี้มักมีเทศกาลและอาหารประจำฤดูกาลเกิดขึ้นมากมาย ทำให้การถ่ายภาพทิวทัศน์ช่วงนี้มีสีสันต์และมีคนเป็นองค์ประกอบค่อนข้างมาก
ความท้าทายฤดูกาลนี้ก็คือ
- แสงแข็ง ฤดูร้อนแสงอาทิตย์จะแข็งมาก อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือแสงแดดจะแรงจนรายละเอียดบนวัตถุที่เราถ่ายหายไป ไม่มีความนุ่มนวลเหลืออยู่เลย แต่ถ้าคนที่ชอบถ่ายภาพสายสตรีท แสงแข็งจะช่วยให้ภาพมีมิติมากขึ้น เพราะยิ่งแสงแข็งมากเงาที่เกิดก็จะยิ่งเข้มตามมาด้วย
- ความร้อน โดยเฉพาะประเทศไทยยิ่งไม่ต้องพูดถึง สภาพอากาศที่ร้อนมากจนอาจเป็นอันตรายต่อตัวช่างภาพและอุปกรณ์ถ่ายภาพด้วย
- ช่วงท่องเที่ยวคนเยอะ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าฤดูร้อนคนมักจะออกเดินทางท่องเที่ยว ทำให้การถ่ายภาพทิวทัศน์มีความยากมากกว่าเดิม แต่พอมีผู้คนในภาพถ่ายก็ช่วยเสริมเรื่องราวได้ดีเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณ
- ช่วงเวลาแสงทองคำ (Golden hour) ในฤดูร้อนจะนานกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี ทำให้คุณมีโอกาสได้ภาพสวย ๆ มากขึ้น
ฤดูฝน
ฤดูที่สื่อถึงประเทศไทยได้ดีที่สุดนอกจากฤดูร้อน ก็คงมีแต่ฤดูฝนนี่แหละ ฤดูฝนของประเทศไทยจะมาราว ๆ ช่วงเดือนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปีไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม รวมระยะเวลาประมาณ 5 เดือนครึ่ง การถ่ายภาพในช่วงฤดูนี้คุณจะต้องเน้นเก็บเม็ดฝนให้สวยงาม ซึ่งวิธีจะมี 2 แบบโดยใช้วิธีตั้งค่า Shutters speed เหมือนกัน
- ถ้าต้องการหยุดเม็ดฝน ให้ได้ภาพฝนที่ตกลงมาเป็นเม็ด ๆ ให้ตั้งค่า Shutter speed มาก ๆ เข้าไว้ ประมาณ 1/1000 หรือมากกว่านั้น
- ถ้าอยากได้ภาพฝนเบลอ ๆ ฟุ้ง ๆ เหมือนพู่กันวาดสีน้ำลงบนกระดาษ ให้ตั้งค่า Shutter speed ต่ำ ๆ ประมาณ 1/60 หรือน้อยกว่านั้น
ความท้าทายของฤดูกาลนี้ก็คือ
- สภาพอากาศมีความมืดหม่นและมองไม่ค่อยเห็นแสงอาทิตย์ ก้อนเมฆที่มีมากมายเป็นเหมือนตัวกรองแสงชั้นดี ทำให้ได้ภาพที่แสงฟุ้งนวลตา แต่บางครั้งก้อนเมฆก็เยอะจนมืดไปหมด ทำให้ถ่ายภาพไม่ได้ในบางครั้ง
- ฝนตก อย่างที่รู้กันว่าความชื้นจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างรุนแรง แต่ความสวยงามท่ามกลางฝนที่ตกหนักก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยงเช่นกัน ถ้ารู้ตัวว่าต้องลุยฝนในบางครั้งอย่าลืมเตรียมเคสกันฝนหรือถุงคลุมกันน้ำไปด้วย
- ความลื่นและพื้นโคลน สิ่งถ้าน่าห่วงถัดจากกล้องเปียกก็คือพื้นที่ยืนของคุณนั่นแหละ ขึ้นอยู่ว่าคุณยืนอยู่ที่ไหน ถ้ายืนอยู่บนพื้นดินก็เตรียมตัวลุยโคลนได้ พยายามหารองเท้ากันน้ำไปด้วยหรือถ้าให้ดีใส่รองเท้าบูทไปเลย
- เงาสะท้อน หลังฝนตกมักเกิดเงาสะท้อนในแอ่งน้ำขังเสมอ เป็นโอกาสที่ดีในการถ่ายภาพสไตล์สมมาตร (Symmetry)
ฤดูหนาว
ตามจริงเราอยากนำเสนอวิธีถ่ายภาพฤดูใบไม้ร่วงด้วย แต่ในประเทศไทยฤดูใบไม้ร่วงไม่มี เพราะฉะนั้นเราจะกระโดดไปฤดูหนาวเลยแล้วกัน แม้ในประเทศไทยแทบจะสัมผัสไม่ได้เลยก็ได้ตาม (เศร้า)
การถ่ายภาพทิวทัศน์ในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยทำได้ยากกว่าที่อื่น เพราะเราจะทำอย่างไรให้ภาพสื่อถึงความหนาวเย็นได้มากพอที่จะทำให้คนดูรู้สึกได้
ความท้าทายของฤดูกาลนี้ก็คือ
- สถานที่ถ่ายภาพ คุณต้องหาสถานที่อันเหมาะสมในการสื่อสารความหนาวเย็นให้เจอ ซึ่งส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นบริเวณภาคเหนือหรือแถบอีสานตอนบน ที่มีภูเขารายล้อมไปด้วยหมอกยามเช้า
- ช่วงเวลาแสงทองคำ (Golden hour) มีระยะเวลาที่สั้นกว่าฤดูกาลอื่น ๆ คุณอาจต้องเผื่อเวลาเดินทางล่วงหน้าเยอะขึ้นกว่าเดิม
- แบตหมดไว! ต้องยอมรับเลยอากาศหนาวส่งผลโดยตรงต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า ทำให้แบตเตอร์รี่หมดไวกว่าเดิม อย่าลืมพกแบตสำรองไปด้วย
จะเห็นได้ว่าภาพทิวทัศน์ในแต่ละฤดูกาลมีความแตกต่าง มีความท้าทายในการถ่ายภาพที่เหมือนกันและแตกต่างกัน การได้มาซึ่งภาพที่สวยงามจึงไม่ใช่เรื่องง่าย คุณค่าของผลงานจึงมีสูงและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ใครไม่สามารถออกไปถ่ายภาพเหล่านี้ได้ ทาง Shutterstock มีภาพเหล่านี้ที่ผ่านการคัดสรรโดยมืออาชีพ ให้รับชมอยู่มากมายกว่า 760 ล้านชิ้นและสามารถใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ด้วย ถ้าท่านใดสนใจอย่าลืมติดต่อพวกเรามาได้ที่ Number 24 x Shutterstock