ทุกวันนี้ผู้คนแต่งตัวเหมือนเดินอยู่บนรันเวย์แฟชั่นโชว์ตลอดเวลา เพียงแค่ยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมาถ่ายรูปภาพเก็บไว้เล่น ๆ ทุกคนก็สามารถกลายเป็นช่างภาพสายแฟชั่นได้โดยบังเอิญ นี่โลกเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไงเนี่ย!
การถ่ายภาพผู้คนที่กำลังจะเดินไปงานแฟชั่นโชว์กลายเป็นส่วนหนึ่งของงาน Fashion weeks ทั่วโลก ช่างภาพจะคอยดักรอเจอกับนางแบบตามสถานที่ทั่วไปอย่างถนนคนเดินเพื่อถ่ายภาพเก็บไว้แทนที่จะถ่ายแค่บนเวทีเดินโชว์ ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์ปกติที่พบเจอทั่วไป
เป็นปรากฎการทางแฟชั่นรูปแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสตรีทสไตล์ เกิดขึ้นจากการพัฒนาของกล้องโทรศัพท์มือถือ คนดังที่ชอบเล่นโซเชียล และความต้องการคอนเทนต์แบบรายวันของวงการสื่อชั้นนำ
แฟชั่นโชว์ในช่วงยุคแรก
ยุค 40s-50s ถึงตอนปลาย 60s เสื้อผ้าในวงการแฟชั่นโชว์ถูกผลิตโดยมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงวัย 30 ปีหรือมากกว่า เป็นกลุ่มที่จะช็อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่ปีละสองครั้งก็คือช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิ ตั๋วที่ขายเพื่อเข้าไปรับชมการแสดงส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนและนักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น เพื่อหาไอเดียไปวาดภาพและผลิตผลงานชิ้นใหม่ของตน
ความต้องการภาพสายแฟชั่นกลายเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างเร่งด่วนในทุก ๆ วัน แต่ในบางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะ แบรนด์ดังอย่าง Christian Dior เปิดตัวคอลเลกชั่น “New Look” ในปี 1947 ที่งานแฟชั่นโชว์เท่านั้น โดยไม่มีความเร่งรีบในการเปิดเผยต่อสาธารณะชน
แฟชั่นยุค 60s สุดโกลาหล
ยุคนี้วงการแฟชั่นเปลี่ยนเป้าหมายการขายเสื้อผ้าไปยังกลุ่มเด็กวัยรุ่นมากขึ้น เนื่องจากเสื้อผ้าของวัยรุ่นที่ใส่แล้วดูดีมีไม่มาก การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้แฟชั่นในกรุงลอนดอนเกิดความโกลาหลอย่างหนัก บางคนใส่เสื้อผ้ากระโปรงนุ่งสั้น บ้างก็ใส่รองเท้าบูธเดินเล่น
Biba คือหนึ่งในร้านขายเสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมที่สุดในช่วงนั้น ผู้ก่อตั้งก็คือคุณ Barbara Hulanicki ซึ่งเข้าใจเรื่องพลังของแฟชั่นที่มีผลต่อวัยหนุ่มสาว ทำให้พวกเขามีรูปร่างและหน้าตาดีมีชีวิตชีวา
เธอจ้างสาว ๆ ที่ชื่นชอบแฟชั่นมากมายมาเป็นพนักงานที่ Biba เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องย้ายร้าน เธอก็จัดงานแสดงเสื้อผ้าและแฟชั่นทั้งหมดให้สาธารณะชนได้เห็น โดยสาว ๆ พนักงานลุคสุดชิคในเสื้อผ้าลุคสุดร้อนแรง ที่กำลังขนของขึ้นรถบรรทุกกลางถนน ขนาดขนของยังสวยอ่ะคิดดู!
ปลายยุค 60s งานแสดงแฟชั่นโชว์กลายเป็นมากกว่าแค่การแสดง แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ช่างภาพต่างต้องพกม้วนฟิล์มเยอะขึ้นเป็นกอง เพื่อเก็บไว้ถ่ายภาพคอลเลกชั่นต่าง ๆ ในงานแฟชั่นโชว์
การถือกำเนิดของ Supermodel
เมื่อความสบาย ๆ และความเซ็กซี่ของเครื่องแต่งกายในยุค 70s ถูกแทนที่ด้วยความหรูหราและโอ่อ่าของยุค 80s ธุรกิจแฟชั่นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง นางแบบกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งในวงการแฟชั่นและวงการบันเทิง
สาธารณะชนต่างชื่นชอบและหลงใหลในตัวผู้หญิงที่มีงานถ่ายปกลงนิตยสาร งานแฟชั่นโชว์ และงานโฆษณาเป็นอย่างมาก โดยผู้เป็นตำนานในวงการยุคนั้นได้แก่ Naomi, Christy, Cindy, Claudia
นิตยสารแท็บลอยด์ที่เผยแพร่ข่าวคนดังกลายเป็นที่นิยม คำว่า “ซูเปอร์สตาร์” เกิดขึ้นเพื่อใช้เรียกคนดังในยุคนั้นที่ถูกช่างภาพตามประกบแบบไม่เห็นช่องว่างแม้แต่รูขุมขน ที่ติดตามชีวิตพวกเขาไปยันช่วงเวลานอกงาน ทำให้การถ่ายภาพคนดังนอกเวลางานกลายเป็นเรื่องปกติไปโดยปริยาย
กระแสโลกออนไลน์สายแฟชั่น
Blog ที่เขียนบทความสายแฟชั่นอย่าง Scott Schuman’s The Sartorialist and Tamu McPherson’s All the Pretty Birds (ชื่อยาวเหยียดอย่างกับเรียงความ) ใช้ภาพประกอบของเหล่านางแบบที่กำลังเดินเข้าสู่รันเวย์ช่วงปี 2005 ทำให้เกิดกระแสการถ่ายรูปนางแบบสไตล์นี้ขึ้นมา
ระหว่างงานแฟชั่นโชว์จะมีสาวสวยในชุดสุดชิลเดินทางมาเข้าร่วมงาน โดยปกติแล้วสาวกลุ่มนั้นจะแต่งตัวมาจากที่พักด้วยชุดลำลองหรือชุดใส่เล่น ทำให้เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่ช่างภาพมักจะชอบถ่าย
ภาพนางแบบในลุคนอกเวลางานกลายเป็นผู้สร้างเทรนด์สตรีทสไตล์และแฟชั่นวีคไปโดยปริยาย นั่นเป็นสาเหตุที่สตรีทสไตล์กลายเป็นแฟชั่นกระแสหลักในเวลาต่อมา
การมาถึงของอาชีพบรรณาธิการสายแฟชั่น
ผู้เป็นเป้าหมายของช่างภาพสายแฟชั่นอีกอาชีพก็คือ “บรรณาธิการ” ผู้ที่รู้จักกันในวงแคบของอุตสาหกรรมแฟชั่นแต่ชอบแต่งตัวมีสไตล์กิ๊บเก๋ เมื่อภาพสายสตรีทสไตล์เป็นที่นิยม บรรณาธิการก็กลายเป็นสิ่งที่ช่างภาพให้ความสนใจพร้อมกับนางแบบ
เช่น คุณ Anna Dello Russo บรรณาธิการชาวอิตาลี ที่ทำงานให้กับนิตยสาร Vogue ของญี่ปุ่น ผู้ที่ถูกช่างภาพเรียกให้หยุดเพื่อขอถ่ายรูปเป็นประจำ เพราะการแต่งตัวที่จัดเต็มยศจนช่างภาพต้องเผลอขอถ่าย
คุณ Carine Roitfeld ผู้ที่ทำงานให้กับ Vogue ในประเทศฝรั่งเศษตั้งแต่ปี 2001-2011 เป็นอีกคนที่ช่างภาพสายสตรีทขอถ่ายรูปภาพบ่อยครั้ง ทำให้เธอกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงที่สุดในวงการบรรณาธิการ
นอกจากนี้แฟชั่นวีคยังทำให้อินฟลูเอเซอร์หลายคนถูกพูดถึง เช่นคุณ Bryan Boy และ Aimee Song ผู้กลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนหลังจาก Blog นิตยสารแฟชั่นเผยแพร่ภาพพวกเธอ
แฟชั่นปัจจุบันและอนาคต
กระแสแฟชั่นสตรีทสไตล์ไม่เคยจางหายไป และไม่เคยตกยุคจนถึงปัจจุบัน การประลองฝีมือการออกแบบในหัวข้อนี้กลับเข้มข้นและใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนเริ่มเข้ามาร่วมงานแฟชั่นวีคในชุดที่แทบจะแยกคนที่เดินบนรันเวย์กับผู้ชมไม่ออก โดยหวังว่าจะถูกเรียกถ่ายรูปสักครั้ง
ในยุคแรกการถ่ายแฟชั่นสายสตรีทไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เพราะถูกมองว่า “อยากมีสไตล์หรือแค่อยากโชว์ชาวบ้าน” แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับได้รับการยอมรับอย่างมาก
ภาพที่เมื่อก่อนมักอยู่บน Blog กลับกลายเป็นมาอยู่บน Instagram ทำให้ผู้ชมทุกคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงวงการแฟชั่นได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่แค่โลกแคบ ๆ อีกต่อไป
บทความโดย : A Brief History of Fashion Week Street Style
เรียบเรียงโดย : ทีมงานชัตเตอร์สต็อกประเทศไทย ดำเนินงานโดย นัมเบอร์ 24