เบื่อความมินิมอลที่เจน Y ใช้กันจนเกร่อหรือยัง? ได้เวลาฉีกกฎเดิม ๆ แล้วก้าวเข้าสู่โลกของ Anti-Design สไตล์ที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง แหวกแนว และดิบเท่แบบหัวขบถ มาดูกันว่า แอนติ-ดีไซน์ สามารถเพิ่มความดิบ เท่ และพลังให้กับเว็บไซต์ กราฟิกดีไซน์ และแบรนด์ของคุณได้อย่างไร และทำไมมันถึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การออกแบบที่ทรงพลังที่สุดสำหรับแคมเปญการตลาด

ว่าแต่ Anti-Design คืออะไร?
ถึงแม้ชื่อสไตล์จะฟังดูเป็นแง่ลบ แต่จริง ๆ แล้ว Anti-Design หรือ แอนติ-ดีไซน์ คือแนวคิดที่เปิดกว้างและไร้ขีดจำกัดในการออกแบบ สาเหตุเพราะนักออกแบบและกราฟิกมักติดอยู่ในกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น เส้นกริดต้องเป๊ะ การเลือกฟอนต์ต้องเข้ากับสมัยนิยม เป็นต้น
แต่ Anti-Design จะเข้ามาฉีกและโยนตำราพวกนี้ทิ้งไปทั้งหมด แล้วแทนที่ความคิดในหัวว่า “ทำไมจะทำไม่ได้ ไม่มีอะไรจะมาขวางไอเดียของฉันทั้งนั้น”
แม้ว่าแอนติ-ดีไซน์จะมีความหลากหลายและดูฉีกแหวกแนวกว่าใคร แต่ในบางครั้งเราก็จะมองว่าสไตล์นี้มันเยอะจนยุ่งเหยิงจนดูยาก หรือ maximalist ไม่เรียบง่ายเหมือนสไตล์อื่น ผลลัพธ์ของภาพที่ได้ก็จะสุดโต่ง กระจัดกระจาย เหมือนสไตล์สตรีทกรันจ์ และถูกสายมินิมอลมองว่า “รสนิยมอย่างแย่”

แต่นั่นก็คือเป้าหมายของผู้ที่ชื่นชอบสไตล์นี้อยู่แล้ว นั่นก็คือการสวนกระแสหลักและทำให้คนที่มองรู้สึกขัดแย้งกับตัวงานเสมอ
ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นก็คือ ในช่วงปี 1990s มินิมอลดีไซน์ กลายเป็นกระแสหลักด้วยเลย์เอาต์ที่โล่ง โปร่ง สีขาวสะอาดตา และตัวอักษรที่ดูเรียบง่าย แต่คุณ David Carson นักออกแบบกราฟิกชื่อดัง ได้ปลุกกระแสการออกแบบเชิงต่อต้านขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Experimental Typography โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมกรันจ์ที่กำลังเฟื่องฟูในวงการดนตรีและแฟชั่น
ผลลัพธ์ที่ได้คือสไตล์การออกแบบที่ฉีกกฎสุด ๆ เต็มไปด้วยการตัดแปะแบบไร้ระเบียบ และการจัดเลย์เอาต์ที่ไม่พึ่งกริด ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนในนิตยสาร Ray Gun ที่เขาเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์

ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานแล้วแต่แนวคิดนี้ก็ยังคงอยู่ และยังคงถูกต่อต้านในสายตานักออกแบบบางคนเสมอ แต่นักออกแบบบางคนกลับมาว่าทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยดีไซนต์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด เรากำลังจมอยู่กับดีไซน์ที่เรียบง่าย เน้นความมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แต่ในสายตาผู้รับชมกลับมองว่าดูจืดชืดและไร้ชีวิตชีวา
นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะถ้าทุกอย่างมีการออกแบบดีไซน์เหมือนกันหมด แล้วทักษะในการออกแบบและความคิดสร้าสรรค์ของมนุษย์จะมีไว้ทำไม Anti-Design ท้าทายให้เรากลับมาคิดใหม่ว่า เป้าหมายของการออกแบบคืออะไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทดลองแนวทางใหม่ๆ ในวงการดีไซน์
ประโยชน์ของ Anti-Design ที่มีผลต่อนักออกแบบ แบรนด์ และผู้บริโภค
ที่อ่านมาทั้งหมดคุณอาจจะคิดว่าสไตล์ Anti-Design นี้มันก็ดีไปอีกแบบ แต่จะนำมาประยุกต์ใช้กับแบรนด์ของตัวเองอย่างไรดีล่ะ? จริงๆ แล้ว แอนติ-ดีไซน์ เต็มไปด้วยข้อดีมากมายสำหรับนักออกแบบและแบรนด์ที่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ เพราะมันเป็นการออกแบบที่ไม่ยึดติดกับกฎเดิม ๆ ทำให้ผลงานเด่นชัดและดึงดูดความสนใจจากคนดูทันที

ความไม่ยึดติดกับกรอบของ แอนติ-ดีไซน์ ช่วยเพิ่มความจดจำให้กับผู้ชมได้ นี่เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมากสำหรับแบรนด์ใหม่ที่ต้องการโดดเด่นท่ามกลางความวุ่นวายของตลาดโฆษณา หรือธุรกิจที่ต้องการทำแคมเปญการตลาดครั้งเดียวเพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเข้าถึงกลุ่มผู้ชมใหม่
เพราะความยุ่งเหยิงและจัดเต็มของสไตล์ แอนติ-ดีไซน์ ทำให้เราพบเห็นงานแบบนี้ได้น้อย เนื่องจากการแยกแยะระหว่างงานออกแบบที่ดีและงานที่ดูมั่วซั่วนั้นค่อนข้างยาก ดังนั้นมันจึงต้องการความพิถีพิถันในการทำให้ทุกอย่างลงตัวอย่างแท้จริง

ในบางบริบท เช่น การออกแบบสำหรับโรงพยาบาล รัฐบาล หรือเว็บไซต์ด้านสุขภาพ การออกแบบต้องมีความเรียบง่าย ไม่ยุ่งเหยิง เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ มินิมอลดีไซน์ เหมาะสมและตอบโจทย์มากกว่าในกรณีเหล่านี้ ถ้าเอา Anti-Design ไปใช้ ผู้ชมคงตาลายเป็นแน่

เพราะ แอนติ-ดีไซน์ ชอบใช้เลย์เอาต์ยุ่งเหยิงและวุ่นวาย บางทีมันก็อาจทำให้การเข้าถึงข้อมูลไม่สะดวกเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเว็บไซต์ ที่อาจจะทำให้การหาทางเข้าออกยากขึ้น เป้าหมายของ แอนติ-ดีไซน์ คือการทำให้ทุกอย่างดูแปลกใหม่และน่าสนใจ แต่บางทีเส้นทางของผู้ใช้อาจจะงงไปหน่อย แต่ถ้าเราแลกกับ CTR ที่ลดลงเพื่อให้คนจำเว็บไซต์เราได้ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดีก็ได้นะ

ถ้าคุณอยากจะเข้าใจมากขึ้นว่าการออแบบ Anti-Design สามารถเป็นได้อย่างไรอีกบ้าง สามารถดูไอเดียต่าง ๆ ที่: https://shutterstock.7eer.net/OeKMKK
บทความโดย : Embracing Anti-Design: How to Do It Well
เรียบเรียงโดย : ทีมงานชัตเตอร์สต็อกประเทศไทย ดำเนินงานโดย นัมเบอร์ 24